26 พฤศจิกายน 2567 นายอินทพร จันเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นำเสนอการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 ให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้รับทราบ
โดยที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีมติมอบหมายให้พระเถรนุเถระ จำนวน 10 รูป ในนามของมหาเถรสมาคมเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทย ร่วมเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่ออัญเชิญรับพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ร่วมกับผู้แทนของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม และร่วมพิธีอัญเชิญส่ง วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ นำโดยพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทย เมื่อถึงยังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 คณะสงฆ์ของไทย และคณะสงฆ์จีน จะนำผู้แทนรัฐบาลไทยและจีนประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ก่อนเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปยังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และตั้งขบวนไปยังท้องสนามหลวงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังมณฑปและประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์
นายอินทพรกล่าวว่า สำหรับการประดิษฐานชั่วคราวตลอด 73 วัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะนิมนต์คณะสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า และช่วงบ่ายในแต่ละวัน พร้อมกันนี้ยังจัดเตรียมพื้นที่รองรับพระสงฆ์จากทั่วประเทศที่จะเดินทางเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ทั้งนี้ ได้แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประสานงานไปยังเจ้าคณะจังหวัดในการจัดเจ้าหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกแก่คณะสงฆ์ที่จะเดินทางมาเป็นหมู่คณะในการเดินทางเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งนี้ จากการได้มีโอกาสเดินทางไปยังวัดหลิงกวง ทราบว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับพระเขี้ยวแก้วในฐานะสมบัติของแผ่นดินที่ล้ำค่า และการอัญเชิญออกนอกประเทศแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น ทั้งนี้ รัฐบาลจีนเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในการอัญเชิญจากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่งผ่านทางสนามบินกองทัพอากาศของจีน มีคณะสงฆ์ของจีน และผู้แทนรัฐบาลจีนราว 70 คนร่วมคณะกับรัฐบาลไทย
“การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งครั้งประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย นับจากปี 2545 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ได้อัญเชิญประดิษฐานยังพุทธมณฑล จ.นครปฐม ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไทย และจีนได้ประสานการทำงานระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางการจีน ให้ความสำคัญกับการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยในการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศจีน” ผู้อำนวยการ พศ. กล่าว
แหล่งข่าว : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ