ระเบียบมหาเถระสมาคมว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้บุคลากร เผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่ สามารถปฏิบัติงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปโดยสอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และตอบสนองต่อนโยบายของมหาเถรสมาคม อันจะทำให้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เกิดความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และน้อมนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้:
“การเผยแผ่พระพุทธศาสนา” หมายความว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อให้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง มีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย น้อมนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ
“ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ” หมายความว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
“ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด” หมายความว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
“บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา” หมายความว่า พระสังฆาธิการ และเลขานุการทุกระดับชั้น พระธรรมทูต พระนักเทศน์ พระวิปัสสนาจารย์ พระจริยานิเทศก์ ปริยัตินิเทศก์ ครูสอนพระปริยัติธรรม ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ครูสอนศีลธรรมในสถานศึกษา พระบัณฑิตเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมจาริก พระธรรมวิทยากร บรรพชิตจีนนิกาย บรรพชิตอนัมนิกาย พระภิกษุ บุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด
“องค์กรเผยแผ่” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน ซึ่งทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาและส่งเสริมสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
“เครือข่ายเผยแผ่” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน บุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเผยแผ่
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
“จังหวัด” ให้หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานครด้วย
ข้อ ๕ ให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑
คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ข้อ ๖ ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม เรียกว่า “คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ประกอบด้วย:
(๑) ประธานกรรมการรูปหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
(๒) กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมจำนวนสามรูป
(๓) เจ้าคณะภาคที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าคณะใหญ่ในหนนั้น จำนวนหนหรือคณะละหนึ่งรูป
(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ แม่กองงานพระธรรมทูต แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง ประธานกรรมการการศึกษาปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และอธิบดีกรมการศาสนา
(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าห้าแต่ไม่เกินเจ็ดรูปหรือคน
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจำนวนห้ารูปหรือคน
ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการรูปหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ
ข้อ ๗ กรรมการตามข้อ ๖ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ เมื่อครบกำหนดตามวาระ หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ข้อ ๘ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ กรรมการตามข้อ ๖ (๑) (๒) (๓) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) มรณภาพหรือเสียชีวิต
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออกโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม
(๕) เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
ข้อ ๙ ในกรณีที่กรรมการตามข้อ ๖ (๑) (๒) (๓) และ (๕) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
ข้อ ๑๐ คณะกรรมการตามข้อ ๖ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๑) กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
(๒) กำกับดูแลและสนับสนุนส่งเสริมศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด
(๓) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเผยแผ่แก่บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณของศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
(๕) พิจารณาเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อออกคำสั่งหรือกำหนดมาตรการใด ๆ เพื่อยุติหรือห้ามการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ไม่เป็นไปตามหลักคำสอน
(๖) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับจรรยาของบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
(๗) กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
(๘) จัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา การผลิตสื่อเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
(๙) ให้การรับรององค์กรเผยแผ่และเครือข่ายเผยแผ่
(๑๐) ออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ
(๑๑) กำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อมหาเถรสมาคม
(๑๒) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้
(๑๓) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย
(๑๔) กระทำการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือ ตามที่มหา
ข้อ ๑๑ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการรูปหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
ข้อ ๑๒ ให้มีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานด้านงานธุรการ ด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการ รวมทั้งมีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งอยู่ที่ใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๒
คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด
ข้อ ๑๓ ให้มีคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด ซึ่งมหาเถรสมาคมแต่งตั้งโดยดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการ ประกอบด้วย
(๑)เจ้าคณะจังหวัด เป็นประธาน
(๒) รองประธาน จำนวนหนึ่งรูป
(๓) รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส ที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าคณะจังหวัด จำนวนไม่เกินเจ็ดรูป
(๔) ผู้แทนองค์กรเผยแผ่หรือเครือข่ายเผยแผ่ จำนวนสี่คน
(๕) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดที่เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด คลังจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด และวัฒนธรรมจังหวัด
(๖) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้ารูปหรือคน
(๗) ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจำนวนสามคน
สำหรับในกรุงเทพมหานครให้ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจำนวนสามคน
ให้เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายที่มีอาวุโสน้อยกว่าเป็นรองประธาน กรณีไม่มีเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ให้รองเจ้าคณะจังหวัดรูปหนึ่งเป็นรองประธาน
ข้อ ๑๔ คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๑) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัด
(๒) ปฏิบัติตามคำสั่ง มติ หรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
(๓) จัดทำโครงการ และแผนปฏิบัติการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของคณะกรรมการ
(๔) จัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา การผลิตสื่อเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่ของจังหวัด
(๕) กำกับดูแลและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัดให้เป็นไปตามนโยบายและแผนแม่บทที่คณะกรรมการกำหนด
(๖) ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัด
(๗) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่ของจังหวัด
(๘) ให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำปีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ
(๙) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัด
(๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย
(๑๑) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๑๕ ให้นำความในข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ และข้อ ๑๑ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดโดยอนุโลม
ข้อ ๑๖ ให้มีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด มีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด ในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานด้านงานธุรการ และด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด รวมทั้งมีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดมอบหมาย
ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดตั้งอยู่ที่ใด ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดกำหนด
หมวด ๓
การติดตามและประเมินผล
ข้อ ๑๗ ในแต่ละเขตปกครองคณะสงฆ์ระดับหน ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผล ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการหรือกรรมการที่ประธานกรรมการมอบหมายเป็นประธาน
(๒) เจ้าคณะภาคหรือเจ้าคณะจังหวัดในหนนั้น จำนวนห้ารูป
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสามรูปหรือคน แต่ไม่เกินห้ารูปหรือคน เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้งข้าราชการในสังกัด จำนวนสองคน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลของแต่ละหน
ข้อ ๑๘ คณะกรรมการติดตามและประเมินผล มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๑) วิเคราะห์นโยบายและแผน จัดทำเครื่องมือในการกำกับ ติดตาม ประเมินผลแผนงาน โครงการ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของคณะกรรมการ
(๒) รายงานผลการกำกับ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสนอคณะกรรมการ
ข้อ ๑๙ ให้นำความในข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ และข้อ ๑๑ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการติดตามและประเมินผล โดยอนุโลม
หมวด ๔
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข้อ ๒๐ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่ ทั้งในและต่างประเทศ ให้อยู่ภายใต้การอำนวยการและสนับสนุนจากคณะกรรมการ
ข้อ ๒๑ ให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด จัดให้มีทะเบียนบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนา องค์กรเผยแผ่ และเครือข่ายเผยแผ่
ข้อ ๒๒ ให้มีบัตรประจำตัวบุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๒๓ ให้คณะกรรมการเห็นชอบตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ใช้ในภารกิจการเผยแผ่ รวมทั้งพิจารณามอบประกาศเกียรติคุณบุคคลหรือองค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามความเหมาะสม
ข้อ ๒๔ ให้คณะกรรมการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กรณีศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดมีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อองค์กรเผยแผ่หรือเครือข่ายเผยแผ่ให้เสนอโดยตรงได้
หมวด ๕
กองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข้อ ๒๕ ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาบุคลากรการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข้อ ๒๖ ให้คณะกรรมการออกระเบียบหรือประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข้อ ๒๗ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของจังหวัดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ให้ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดเป็นที่ตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๘ ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัด บุคลากรเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบนิ้มีผลบังคับให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๖ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม